วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วัดราชนัดดารามวรวิหาร

วัดราชนัดดารามวรวิหาร

ที่ตั้ง       
เลขที่ 70 ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฏร์  เขตพระนคร  กรุงเทพฯ

ประวัติ
                วัดราชนัดดารามวรวิหารเป็นพระอารามชั้นตรีชนิดวรวิหาร  พระบาทสมเด็จพระนั่งเหล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี  (ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระอัครมเหสีองค์แรกของรัชกาลที่ 4 มีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดีบรมราชเทวี) จึงทรงพระราชทานนามว่าวัดราชนัดดาราม เมื่อ ปีพ.ศ.2386
                วัดนี้จัดว่าเป็นวัดที่มีความสวยงามและมีคุณค่ามากอีกวัดหนึ่งในกรุงเทพมหานคร โดยช่างผู้ชำนาญในสมัยรัชกาลที่ 3  โดยทรงโปรดให้เจ้าพระยายมราช (บุญนาค) เป็นผู้ออกแบบแผนผังการสร้างวัด กำกับการสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ เจ้าพระยาศรีพิพิฒน์ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโลหะปราสาท พระยามหาโยธาเป็นผู้สร้างกุฏิสงฆ์ พร้อมทั้งกำแพงและเขื่อนรอบๆวัด 
                แต่เดิมโลหะปราสาทไม่ได้ตั้งเด่นเป็นสง่าเมื่อผ่านมาทางถนนราชดำเนินเหมือนในปัจจุบัน เพราะมีการก่อสร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย หัวมุมถนนราชดำเนิน ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาใน พ.ศ.2532 จึงได้มีการรื้อศาลาเฉลิมไทย เพื่อเปิดมุมมองทางเข้าเกาะรัตนโกสินทร์จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อสร้างเป็น ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ พื้นที่โดยรอบเป็นลานกว้าง จัดสร้างพลับพลาที่ประทับ เพื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกรับแขกบ้านแขกเมือง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ


               
  
           พระอุโบสถ  ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงไทยจั่วซ้อน 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงินและสีเหลือง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางาหงส์ ที่ชั้นลด หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังมีลวดลายเหมือนกันคือหน้าบันสลักไม้ลายใบเทศ มีการออกลายให้มีความสัมพันธ์กันภายในกรอบสามเหลี่ยมหน้าบัน โดยใช้ดอกลายเป็นตัวเชื่อม ส่วนล่างหน้าบันสลักเป็นลายกระจังปฏิญาณ ลายประจำยามกล้ามปู และลายกระจังรวน การทำหน้าบันสลักไม้ในสมัยรัชกาลที่ 3 มักสลักเป็นภาพนูนต่ำลงรักปิดทองกระจกสี ประดับกระจกสี ปิดทองบานประตู หน้าต่าง ด้านนอกเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ กลางดอกลายเทพพนม บานประตูหน้าต่างด้านในและส่วนลึกของประตูเป็นภาพเขียนสีลายทวารบาลส่วนลึกของบานหน้าต่างเป็นภาพรามเกีรติ์และอดีตชาติของพระพุทธเจ้า บานหน้าต่างด้านในเป็นรูปเทพต่างๆ ฐานพระอุโบสถยกพื้น 2 ชั้น ฐานชั้นแรกตั้งเสาระเบียงรองรับเชิงชายหน้าจั่วและหลังคา เสาเป็นเสาเหลี่ยมลบมุมไม่มีลวดลายที่ปลายเสา มีระเบียงรอบพระอุโบสถ ปลายบันไดประดับด้วยสิงโตหิน
        
                 
   








           
           พระวิหาร เป็นอาคารทรงโรง สูงใหญ่ขนาดไล่เลี่ยกับพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อน 2 ชั้น มี 3 ตับ ตับล่างเป็นปีกนกรอบ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ด หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังมีลวดลายเหมือนกันคือ ลายดอกพุดตาน ประดับด้วยกระจกสีปิดทอง เช่นเดียวกับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นดอกพุดตานปิดทองที่ดอกลาย บานประตูหน้าต่างมีภาพเขียนสี ฐาน 2 ชั้น ภายในมีภาพเขียนที่เพดานและผนัง เพดานมีลายดาวและผีเสื้อ ฝาผนังมีลายเขียนสีดอกไม้ร่วง เช่น ดอกพุดตาน ดอกลำดวน เป็นต้น
  
                      ศาลาการเปรียญ   ลักษณะอาคารสูงใหญ่เช่นเดียวกับพระวิหาร ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องลด 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันลงรักปิดทอง ประดับกระจก ซุ้มประตูหน้าต่างเขียนลายปูนปั้นปิดทอง ฐาน 2 ชั้น ภายในมีภาพเขียนสีที่เพดานและผนัง ผนังเป็นลายดอกไม้ร่วง ได้นำพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวลักษณะเดียวกับพระบรมรูปหล่อในปราสาทพระเทพบิดรในพระบรมมหาราชวัง


                กำแพงแก้วและศาลาราย กำแพงวัดราชนัดดารามวรวิหารเป็นกำแพงชั้นนอกและกำแพงแก้วชั้นใน กำแพงด้านนอกมีลักษณะอย่างกำแพงเมือง ด้านหน้าวัดจะสร้างศาลาขนาดใหญ่ มีบันไดทางด้านขึ้นสู่ศาลาซ้ายและขวา ด้านในวัดขนาบประตูเข้าวัดข้างละ 1 หลัง ก่ออิฐถือปูนเป็นทรงไทย เสาศาลาบนกำแพงแต่ละต้นมีขนาดใหญ่เป็นแท่งสี่เหลี่ยมรองรับหลังคา 



                  โลหะปราสาท : เอกพุทธศิลปสถาปัตยกรรมไทย ที่คงเหลือเพียงแห่งเดียวในโลก 

                     
                พ.ศ.2389 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี โปรดเกล้าให้สร้างโลหะปราสาท เป็นอาคารประธานของวัด สันนิษฐานว่า ใช้เป็นที่สำหรับพระภิกษุใช้จำพรรษาหรือปฏิบัติธรรม ได้รับการยกย่องว่าเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 3 ของโลก แห่งแรกอยู่ในประเทศอินเดีย แห่งที่ 2 อยู่ในประเทศศรีลังกา ทั้งสองแห่งได้ถูกทำลายไปแล้ว ปัจจุบันเหลืออยู่ ณ วัดราชนัดดาราวรวิหารเพียงแห่งเดียวเท่านั้น


                 สืบคติการสร้างโลหะปราสาทจากศรีลังกา สะท้อนคุณค่าสถาปัตยกรรมไทย  คำพรรณนาถึงโลหะปราสาทของศรีลังกาในหนังสือมหาวงศ์ เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัย ให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า มีพระราชศรัทธาแรงกล้าในการสร้างพุทธเจดีย์โลหะปราสาทนี้ บนผืนแผ่นดินไทย เพื่อประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินแห่งพระพุทธศาสนาที่มั่นคง
                     




                 โลหะปราสาทนี้มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตามโลหะปราสาทที่เมืองลังกา ส่วนลักษณะสถาปัตยกรรมสร้างตามแบบศิลปกรรมไทย ถือเป็นพุทธศิลปสถาปัตยกรรมอันเป็น “เอก” แห่งหนึ่งในสถาปัตยกรรมไทยทั้งหมด โดดเด่นด้วยอาคารขนาดสูงใหญ่ 7 ชั้น ลดลั่นกันขึ้นไป อาคารชั้นล่าง ชั้นที่ 3 และชั้นที่ 5 เป็นคูหาและระเบียงรอบ ส่วนชั้นที่ 2 ชั้นที่ 4 และชั้นที่ 6 ทำเป็นคูหาจัตุรมุขมียอดเป็นบุษบกชั้นละ 12 ยอด และ ชั้นที่ 7 เป็นยอดปราสาทจัตุรมุขสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุ รวมเป็น 37 ยอด ซึ่งหมายถึง พระโพธิปักปิยธรรม หัวข้อธรรมโนพุทธศาสนา 7 หมวด 37 ประการ เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อการ “ตรัสรู้” 

                   
                ยอดบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริธาตุ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ พระราชทานและเสด็จมาบรรจุ วันที่ 27 ก.พ. 2538 ในพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี การขึ้นสู่ปราสาทแต่ละชั้น จะมีบันไดวนตั้งอยู่ตรงกลางโลหะปราสาท โดยใช้ซุงขนาดใหญ่ยึดเป็นแม่บันไดตั้งแต่พื้นล่างตลอดจนถึงชั้นบน นับแต่ขั้นบันไดจนรอบต้นซุงได้ 67 ขั้น 


                ข้าพเจ้าคิดว่า สถาปัตยกรรมนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์บางอย่างเท่านั้น แต่ยังสามารถบรรจุเรื่องราวทั้งประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ที่บ่งบอกแนวความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา ที่มนุษย์มีในช่วงเวลานั้นๆ สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าในตัวเอง แม้กาลเวลาจะผ่านเลยไปกี่ร้อยกี่พันปีก็ตาม สถาปัตยกรรมนั้นไม่เคยหลับใหล และวัดราชนัดดารามวรวิหาร เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่งดงามไม่เคยเสื่อมคลาย และมีคุณค่าอย่างยิ่ง เพื่อเตือนใจถึงความศรัทธาและยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ควรค่าแก่การรักษา เพื่อสืบทอดเป็นมรดกแก่ประเทศไทยของเราต่อไป    


ภาพประกอบถ่ายด้วยตนเอง
และบางส่วนจาก :
http://kongzzar.multiply.com/photos/album/73/Wat-Ratchanaddaram#  ,วันที่ 12/02/2556

ข้อมูลบางส่วนค้นคว้าด้วยตนเองจากพิพิธภัณฑ์โลหะปราสาท 
และอ้างอิงจาก :

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : งานผังรูปแบบ ฝ่ายอนุรักษ์โบราณ
สถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538.

ปิยมาศ สุขพลับพลา. การศึกษาเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมพระอารามหลวงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว : กรณี
ศึกษาวัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546.
โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2538.

วัดราชนัดดาราม สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2556 จาก  http://kongzzar.multiply.com/photos/album/73/Wat-Ratchanaddaram#  ,วันที่ 12/02/2556






วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สถาปนิก Idol รุ่นพี่ลาดกระบัง

คุณวศิน ธรรมานุบาล (พี่โอม) รุ่น33


การศึกษา
พ.ศ.2532 จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ
พ.ศ.2533 เข้าศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
พ.ศ.2538 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ศึกษาต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร 1 ปี
พ.ศ.2544 จบการศึกษาปริญญาโท ที่นิวยอร์ค มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สาขา Urban Design

ประสบการณ์การทำงาน
- บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด เป็นเวลา 1 ปีครึ่ง
- คุมงานก่อสร้างสถาปัตยกรรมไทย เรือนไทยหมู่ 1 ปี
- เป็นอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยบางมด 3 ปี
- ทำงานที่แคลิฟอร์เนีย ออกแบบอาคารบ้าน และดูแลรักษาปรับปรุง อุทยานแห่ง     ชาติของที่อเมริกา 1 ปี 
- ทำงานที่บริษัท บุนนาค อาร์คิเท็คส์ จำกัด 1 ปี
- ปัจจุบันเป็นเจ้าของร่วมกับคุณจงรักษ์ พฤกษ์ประเสริฐ ที่บริษัท JP Architects     and Associates Ltd. และเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค)


ตัวอย่างผลงาน
MASTER PLANNING

LAGUNA VILLAGE HOUSING PHASE 









HOSPITALITY
BANYAN TREE RESORT PHASE I & II (2 BR VILLA)
Phuket, Thailand










MAGGIA RESIDENCE,Samui, Thailand







ADAMAS (AURA RESORT & SPA) 
Phuket, Thailand 

COMMERCIAL
ANDAMAN BAZAAR
Phuket, Thailand















ADAMAS (AURA RESORT & SPA) 



ข้อคิดสำคัญในการทำงาน การปฏิบัติตนในวิชาชีพสถาปนิกที่ดีในทัศนคติของพี่โอม

ขยัน อดทน
               “ ต้องเป็นคนที่ขยัน อดทน แต่อย่าขยันแบบโง่ๆ!!นะ ต้องขยันแล้วเกิดประโยชน์ และเวลาทำงานก็ต้องจริงจังเพราะ วันนี้เราทำงาน เราเอาความสามารถมาแลกกับเงิน ไม่เหมือนกับการขอเงินพ่อแม่ ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ เล่นๆก็ได้ ชีวิตจริงไม่มีใครใจดีขนาดนั้นหรอก "
อ่อนน้อม ใฝ่รู้
            “ ต้องพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ”
 ซื่อสัตย์
            “ อย่าทำสิ่งที่ผิดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพเรา เพราะอาจโดนริบใบประกอบวิชาชีพได้ แค่ทำให้ถูกต้องเท่านั้น “
ตรงต่อเวลา
            “ เรื่องการรักษาเวลาเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานจริง เพราะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และในอนาคตหากเราต้องการก้าวหน้าในวิชาชีพ เราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้องด้วย “

            “ สำหรับน้องๆที่จบใหม่ พี่แนะนำว่า ถ้าเราได้ไปทำงานที่ออฟฟิสใหญ่ๆ จะดีมาก เพราะเขาจะมีระบบในการช่วยเทรน เราจะได้รู้ว่างานจริงๆต้องทำอะไร มีวิธีการอย่างไร แต่ถ้าเราจบมาใหม่ๆไปอยู่ออฟฟิสเล็กๆ ส่วนใหญ่เขาจะไม่มีเวลามาสอนเรา เพราะคนมีจำกัด อย่างน้อยเราต้องมีประสบการณ์สัก 1-2 ปี ให้สามารถทำงานได้แบบไม่ติดขัด แต่ถ้าเราอยากทำจริงๆ เราจะต้องขยันเรียนรู้ และต้องเก่งให้ได้เร็วๆ ทำให้ได้หลายๆอย่าง เพราะถ้าเราถนัดเพียงด้านใดด้านหนึ่ง บางทีเราอาจจะได้ทำแต่งานด้านนั้น ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำงานด้านอื่นๆเท่าไหร่ ซึ่งทักษะเราอาจจะพัฒนาได้ช้ากว่า แต่ก็อยู่ที่ความตั้งใจจริงของเราด้วย และที่สำคัญ อย่าเพิ่งไปรับงานเอง เพราะในกระบวนการทำงาน ยังมีอะไรอีกมากที่เราต้องเรียนรู้ เราควรจะมีประสบการณ์ในการทำงานก่อน ซึ่งจะทำให้การทำงานของเราเกิดข้อผิดพลาดได้น้อยลง จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเราเอง และลูกค้าของเรา เพราะชีวิตจริง เราต้องทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ “

ชีวิตสมัยที่เรียน ณ ลาดกระบัง
           “ การเดินทางไปลาดกระบังนั้นยากมาก มีแต่ทุ่งนาสองข้างทาง เวลากลับดึกๆก็ไม่เคยจะมีรถอยากเข้ามาส่งเพราะทั้งไกลทั้งมืด ออกแนวเปลี่ยวๆ สมัยนั้นการเดินทางส่วนมากจะใช้รถไฟ บางครั้งพี่กลับดึกๆไม่มีรถ บางทีพี่ก็ต้องรอรถไฟจนถึงเช้า ใช้ชีวิตเรียบง่าย เรียกได้ว่า เหมือนอยู่ชนบทเลย   สิ่งบันเทิงใจดีที่สุดอย่างมากก็คือทีวี โทรศัพท์มือถือสมัยนั้นก็ยังไม่มี จะมีก็มีแต่สาธารณะ จะไปซื้อของพี่ก็ไปที่เซเว่น ตรงซอยจินดานั่นแหละ คือห้างของพวกพี่ หรูที่สุดในย่านนี้แล้ว จะไปเที่ยวผับบาร์ แถวๆนี้ ก็ไม่ค่อยมี ถ้าไปก็ต้องนั่งรถไกล ใช้เงินมากอีก ส่วนมากเลยอยู่กันแต่ในคณะ และเพราะคนน้อยด้วย ใครทำอะไรก็จะรู้ถึงกันหมด เป็นสังคมที่ดูแลกันเหมือนพี่น้อง
 นักศึกษาในสมัยนั้นจะขยันมาก อาจารย์สั่งงานอะไรมาไม่เกี่ยง นั่งปุ๊บทำได้ เพราะสมัยก่อนไม่ได้มีสิ่งล่อตาล่อใจเยอะเหมือนกับสมัยนี้ สมัยอยู่ปี1 พี่อยู่ที่สตูดิโอตลอด เพราะว่าเราเพิ่งเข้ามาใหม่ อะไรๆก็ยังทำไม่เป็น การมาอยู่สตูดิโอ จึงช่วยได้มาก เพราะเราสามารถปรึกษารุ่นพี่ได้ หรือปรึกษากับเพื่อนๆด้วยกันได้ มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ดี ช่วยกันเรียน ช่วยกันรอด ใครหลับก็ปลุกให้ตื่นมาทำงาน ทุกคนจะเป็นห่วงกันมากๆ

           สมัยนั้นการสอบตก การส่งงานไม่ตรงเวลา การมาสาย จะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะอาจารย์เข้มงวดมากจริงๆ ตอนนั้นพี่เคยสอบตกไปวิชาหนึ่ง ถูกอาจารย์เรียกมาว่ากล่าว ตั้งแต่อาจารย์หัวหน้าภาค อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ประจำวิชา ไล่ไปเรื่อย แต่พี่ก็เข้าใจท่าน เพราะทุกๆท่านหวังดีอยากให้เราตั้งใจเรียน เรียนให้ดี จริงๆถึงจะดูว่าเรางานเยอะ แต่ในเรื่องของกิจกรรมต่างๆนั้น พี่ก็ทำหลายอย่างนะ ทำละคร ไม้สด ทำเชียร์ รับน้อง ที่สำคัญ กินเหล้า รวมแก๊งเฮฮาเป็นเรื่องปกติมากๆ พี่ก็เข้าร่วมกับเพื่อนๆ สนุกสนานและเป็นประสบการณ์ที่ดี ส่วนชีวิตประจำวันของพี่ หลังเลิกเรียน ประมาณ 4-6 โมงเย็น พี่ก็จะไปอยู่ห้องสมุด หาข้อมูล ดูหนังสือต่างๆ เพราะสมัยก่อนไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยนี้ ที่มีอินเตอร์เน็ต เพียงแค่คลิกๆ ก็สามารถหาได้ทุกอย่าง การหาข้อมูลแม้แต่จะทำแค่รายงานในสมัยนั้น ยังเป็นเรื่องยากเลย ถ้าหาที่ห้องสมุดเราไม่เจอ ก็ต้องนั่งรถไปหาที่ห้องสมุดจุฬาบ้าง ศิลปากรบ้าง กว่าจะได้มา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เป็นข้อหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกต้องตั้งใจในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม
            หลังจากเข้าห้องสมุดแล้ว ช่วง 6 โมงถึง 2 ทุ่ม พี่ก็จะเตะบอลกับเพื่อนๆ มีเวลาออกกำลังกายบ้าง และหลังจาก 2 ทุ่มเป็นต้นไป ก็จะเป็นเวลาทำงาน เพราะกลางคืน ลาดกระบังจะเงียบมาก แทบไม่มีสิ่งหันเหความสนใจอะไรเลย เพราะไม่มีอะไรจะทำแล้วจริงๆ ก็เลยต้องทำงาน ถ้าว่างมาก พวกพี่ก็จะรับงานนอกมาทำ สมัยนั้นรายได้ดีมากจริงๆ เพราะอาชีพสถาปนิกยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และตลาดมีความต้องการมาก พี่เขียนภาพ perspective 1 คืน 8 รูป ได้รูปละ 5,000 บาท ตัดโมเดล 2 ตัว ได้ 60,000 บาท เรียกได้ว่า เงินหากันง่ายมากจริงๆ แทบไม่ต้องขอเงินจากที่บ้านเลย จะไปเที่ยว หรืออยากจะได้อะไร เราก็จะรับงานแบบนี้แหละ เก็บเงินกันเอง จนบางครั้งเพื่อนพี่บางคนก็ชอบที่จะทำงานนอกมากกว่างานเรียน ก็เพราะมันได้เงินดีนี่แหละ แต่เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป สภาพสังคม เศรษฐกิจ ความต้องการทางตลาดที่ลดลง และจำนวนนักศึกษาสถาปัตย์จบใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ถ้าเป็นสมัยนี้คงจะไม่ได้เหมือนแบบนั้นแล้ว ”

ข้อคิดดีๆส่งท้าย ฝากถึงน้องๆสถาปนิกรุ่นใหม่    
        “ เราทำงานด้านนี้ ต้องมี Passion ให้มากพอ ต้องมีความรู้สึกว่าอยากทำ อยากเรียนรู้ เพราะตอนนี้ ถึงแม้จะมีคนเข้ามาเรียนคณะนี้กันมาก แต่คนที่อยากจะเป็นสถาปนิกจริงๆยังมีน้อย  จากที่พี่มอง รุ่นพี่เองมีทั้งหมดประมาณ 45 คน ปัจจุบันมีเหลือที่ทำงานเกี่ยวกับสถาปัตย์ ไม่ถึง 20 คน  นักศึกษาสมัยนี้ จบปีละ 2,000 กว่าคน ผ่านไป 3 ปี พี่คิดว่าจะมีคนที่ยังทำงานด้านนี้อยู่ประมาณ 1,500 คน แต่ถ้าผ่านไปสัก 10 ปี พี่ว่าเหลือแค่ประมาณ 100 กว่าคนเท่านั้น นี่แหละคือกลุ่มคนที่คิดว่า อาชีพสถาปนิก คืออาชีพที่ใช่จริงๆ เพราะต้องบอกเลยว่า เหนื่อยแน่ๆ ต้องมีความรับผิดชอบสูง แต่ชีวิตจริง ไม่ว่าอาชีพไหน ก็ไม่ใช่ว่าจะทำกันง่ายๆ ก็ต้องใช้ความขยัน อดทน ทำงานด้วยใจรักกันทั้งนั้น รุ่นพี่หลายๆคน ก็เลือกทางเดินอื่น มีทั้งที่ยังเกี่ยวข้องกับแวดวงสถาปนิก และที่ไม่เกี่ยวข้องเลยก็มี เพื่อนพี่บางคน ไปขายปลาหมึก รวยไปแล้วก็มี มีสามีเป็นฝรั่ง ตอนนี้เป็นแม่บ้าน อยู่สบายๆไปแล้วก็มี ทั้งหมดมันขึ้นอยู่ที่ตัวเราจะเลือก เราจะทำอะไรก็ได้ แต่ขอให้ทำแล้วเรามีความสุขและสนุกไปกับมัน พี่ว่าก็เพียงพอแล้ว ”


ขอขอบคุณ

คุณวศิน ธรรมานุบาล (พี่โอม)
ที่ได้สละเวลาอันมีค่า เพื่อให้ความรู้และแนวคิดดีๆ แก่รุ่นน้องคนนี้
จะพยายามปฏิบัติในสิ่งดีที่พี่สอนไว้นะคะ ขอบคุณมากค่ะ

พี่พัน
พี่รหัสสุดหล่อใจดี ขอบคุณพี่พันที่ช่วยติดต่อแนะนำรุ่นพี่ให้นะคะ

​เรียบเรียงโดย

นางสาวธันย์ชนก ดำรงศักดิ์ 52020037
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรม
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สัมภาษณ์วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 16.30-18.00 น.